เปิดปรัชญาสร้างเด็กบุรีรัมย์ฯ ฉบับ "เนวิน ชิดชอบ"

Toyota Thai League Interview : เปิดปรัชญาสร้างเด็กบุรีรัมย์ฯ ฉบับ "เนวิน ชิดชอบ"

คืนส่งท้ายปีเก่า 2560 เข้าสู่ปีใหม่ 2561… ที่ช้างอารีนา อาจดูเหมือนทุกๆปีที่ผ่านมา ที่นายใหญ่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะขึ้นมาบนเวทีเพื่อพูดถึงอดีต, ปัจจุบัน และก้าวต่อไปในอคาคตของสโมสรฟุตบอลอันเป็นลมหายใจของจังหวัดบุรีรัมย์

“ต้องขอพูดกันตรงๆว่า เราจะไม่ซื้อผู้เล่นไทยบิ๊กเนมอีกต่อไป แต่เราจะผลักดันเยาวชนในอคาเดมี หรือใช้ผู้เล่นสายเลือดบุรีรัมย์” คำพูดของ ประธานสโมสรคนเดิม ที่บ่งบอกถึงมุมมองฟุตบอลที่เปลี่ยนไป

ประโยคข้างต้น อาจดูย้อนแยงไม่น้อยกับ การสร้างทีมฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จ ในยุคที่มูลค่านักฟุตบอล และการลงทุนสูงขึ้นทุกปี แต่เขาเลือกใช้วิธีการยากกว่า อดทนกว่า และไม่มีอะไรการันตีได้ว่า มันจะออกดอกผลอย่างที่เขาคาดหวังไหม?

อ่านบทความต่อด้านล่าง

4 เดือนจากวันนั้น ผู้ชายคนเดียวที่กับยืนบนเวทีวันนั้น พาทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ยึดหัวหาดจ่าฝูง โตโยต้า ไทยลีก หลังผ่าน 10 เกมแรก  ด้วยชัยชนะ 8 นัด เสมอ 2 ไม่แพ้ใคร, คว้าแชมป์ฟุตบอลเยาวชนรายการใหญ่สุดของประเทศอย่าง โค้ก คัพ, รวมถึงการไปโลดแล่นในถ้วยใหญ่สโมสรเอเชีย ในฐานะทีมที่มีค่าเฉลี่ยอายุน้อยประจำฤดูกาล 2018

เปิดปรัชญาสร้างเด็กบุรีรัมย์ฯ ฉบับ

จำนวนเด็กจากทั่วประเทศหลายหมื่นในแต่ละปี กำลังส่งสัญญาณว่า “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” ไมใช่แค่เพียงสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากสุดทีมหนึ่งในประวัติศาสตร์ฟุตบอล

แต่พวกเขายังกลายเป็น ต้นทางความฝันของเด็กไทยจำนวนมาก ที่อยากจะเติบโตมาเป็นนักฟุตบอล… ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขา ยังกล้าพอที่จะใส่ชื่อและใช้งานผู้เล่นอายุน้อยอีกหลายราย ในวันที่ฟตบอลไทยมีการแข่งขันสูงเช่นนี้

โกล ประเทศไทย จะพาไปพูดคุย เนวิน ชิดชอบ ชายผู้ที่เป็นทั้ง ประธานสโมสร และพ่อของเด็กๆ ในแคมป์ลูกหนังวัยเยาว์ ถึงแนวทางปรัชญาการสร้างเยาวชนของสโมสรแห่งนี้ ตลอดจนตะกอนความคิดอะไรที่เปลี่ยนความคิดด้านฟุตบอลเขาไปอย่างสิ้นเชิง

ค่าเฉลี่ยทีมปีนี้น้อยสุด ตั้งแต่ก่อตั้งบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เกิดอะไรขึ้น?

เราทำอคาเดมีมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่ที่มันออกดอกออกผลจริงๆ และได้มาตรฐานตามคอนเซปต์ โมเดิร์นฟุตบอล แบบ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด คือเด็กเจเนอเรชั่นนี้ (16-19 ปี) ที่เราเห็นว่ามันได้น้ำได้เนื้อจริงๆ

ที่ผ่านมาเยาวชนของเรา ในแต่ละรุ่น ไล่มาตั้งแต่รุ่นแรก เราเหลือแค่ ชิติพัทธ์ แทนกลาง กับ ยศพล เทียงดาห์  เท่านั้น ส่วนที่เหลือต่างออกไปจาก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หมดแล้ว ทั้ง อุกฤษณ์ วงศ์มีมา, ชุติพนธ์ ทองแท้ พวกนี้ก็ไปเติบโตที่อื่นหมด

ปัญหาของเจเนเรชั่นรุ่นต่อมา คือเราไม่มีผู้เล่นดาวรุ่งที่ได้ตามมาตรฐานที่เราต้องการเลย ซึ่งเราต้องรอจนมาถึงเจเนอเรชั่นของ อานนท์ อมรเลิศศักดิ์, สุภโชค สารชาติ, รัตนากร ใหม่คามิ, ศูภชัย ใจเด็ด และรุ่นถัดลงไป ที่กำลังจะก้าวมาขึ้นในอนาคต

เพราะหากดูจากรายชื่อ ก็จะเห็นว่า เด็กๆกลุ่มนี้ ต่างมีชื่อติดทีมชาติ U-21, U-19, U-16 ทั้งนั้น เท่ากับว่า คนที่ยังอยู่และมีสัญญากับเรา คือ เด็กที่ยังอยู่ในแนวทาง และเรามองว่าสามารถพัฒนาเขาต่อได้

เปิดปรัชญาสร้างเด็กบุรีรัมย์ฯ ฉบับ

เห็นอะไรในเด็กเจเนอเรชั่นใหม่

มีความเป็นมืออาชีพ รวมถึงทัศนคติและพฤติกรรม ของการเป็นนักฟุตบอลอาชีพสูง เพราะเขาถูกหล่อหลอมมาจากปรัชญาของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อคาเดมี ว่า “ให้ใช้พรแสวงมากกว่าพรสวรรค์” เขาเรียนรู้เรื่องความมีวินัย และการเล่นตามระบบทีม

คุณพูดเรื่องโมเดิร์น ฟุตบอล บ่อยมาก “โมเดิร์น ฟุตบอล” ในอุดมคติของเนวิน ชิดชอบ เป็นอย่างไร

โมเดิร์น ฟุตบอล ก็คือ ฟุตบอลที่เล่น วันทัช ทูทัช แล้วก็เพรสซิ่งได้ดี ต้องเข้าใจก่อนว่า ฟุตบอลสมัยนี้ มีความแตกต่างกับช่วงที่ผมเข้ามาทำสโมสร (ปี 2010) อย่างมาก ตั้งแต่ วิธีคิด, ทักษะ, การฝึกซ้อม เราต้องอัพเดตและคิดตลอดเวลาว่า ควรใช้แท็คติกอย่างไรในแต่ละเกม

ยุคนี้คุณไม่สามารถทำทีมแล้วเล่นด้วยระบบเดียวได้อีกแล้ว เด็กเยาวชนที่เราสร้างมาจึงจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องโมเดิร์น ฟุตบอล ด้วย นั่นคือสิ่งที่ปลูกฝังพวกเขาตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ


ข่าวอื่นๆ |  ติดตามข่าว ฟุตบอลไทย เพิ่มเติมที่นี่


คิดอย่างไรถึงตัดสินใจประกาศว่าจะไม่ซื้อบิ๊กเนม

ตลาดนักเตะทุกวันนี้มัน Overpriced (แพงเกินไป) ซึ่งน่าเป็นห่วงมากสำหรับอุตสาหกรรมฟุตบอล หากต้นทุนมันสูงขนาดนี้ ขนาดบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีรายรับ 800-900 ล้าน เรายังยอมรับเลยว่า “มันเหนื่อยมาก”

แล้วทีมอื่นที่ขายเสื้อฟุตบอลได้ไม่ถึง 100,000 ตัว มีรายได้จากสปอนเซอร์ไม่ถึง 100 ล้าน แล้วยังต้องมาแบกค่าเหนื่อยสูงๆของนักฟุตบอล สุดท้ายไม่มีใครรอดสักคนหรอกครับ สักวันหนึ่ง มันจะแบกไม่ไหวเอง

เราอยากเป็นต้นแบบว่า “ความอยากที่จะเอาชนะ เรามี ความอยากที่ต้องการเป็นแชมป์ เป็นเบอร์ 1 เราก็มี แต่เราจะไม่เบ่งทุกอย่างด้วยเงิน” เราจะรักษาทุกอย่างไว้ด้วยความยั่งยืน ระบบ และวิธีคิดในการทำทีม

งบลงทุนต่อการสร้างเด็กเยาวชนให้ขึ้นมาต่อคน ต่อปี ตีเป็นตัวเลขให้ทราบได้ไหม

เราใช้งบประมาณในการทำอคาเดมี ตกปีละ 30-40 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหนึ่งคนเราใช้เงินไม่ต่ำกว่า 350,000 บาท ต่อปี ต่อหัว

แต่ไม่ได้หมายความว่า ในนักเตะเยาวชน 200 คน ที่เราลงทุนไปทุกๆปี แล้วเราจะได้ผลผลิตกลับมาทั้งหมด ปีๆหนึ่ง ออกดอกผล 1-2 คนก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว เพราะบางปีเราก็ไม่ได้อะไรเลย

เปิดปรัชญาสร้างเด็กบุรีรัมย์ฯ ฉบับ

แสดงว่าแนวทางการสร้างเด็กต้องใช้ความอดทนสูงมาก

ใช่ ต้องมีความอดทนสูง และทำใจยอมรับการสูญเสียมหาศาล ที่จะเกิดขึ้น สมมุติเราเริ่มต้นทำตั้งแต่รุ่นอายุไม่เกิน 9 ปี ปัญหาอาจมีไม่มาก เพราะเด็กที่เราได้คัดมา เป็นพวกเด็กที่มีพรสรรค์อยู่แล้ว แต่ทั้งหมดยังต้องการการพัฒนาต่อ

พอเขาเริ่มโตเข้าสู่วัย 11-13 ปี เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านสรีระ บางคนถึงแม้จะมีพรสรรค์ที่ดี แต่มันไม่โต มันก็จะเป็นปัญหาต่อการพัฒนา

เข้าสู่ช่วงอายุ 15-17 มันจะมีความเสี่ยงที่มากมายเต็มไปหมด เพราะเป็นช่วงที่เด็กมันธาตุไฟแตก มีเรื่องบุหรี่, เหล้า, หนีเที่ยว, ผู้หญิง เข้ามา ทำใหเราต้องเสียเด็กจากตรงนี้ไป 70-80 เปอร์เซนต์ เท่ากับว่าการลงทุนกับนักฟุตบอล ตั้งแต่เด็กอายุ 8 ขวบ มาเป็นเวลา 7-8 ปี บางทีมันพังได้ชั่วข้ามคืนเลย เมื่อผ่านอายุ 15 ปี แล้วมีเรื่องพวกนี้เข้ามา

นี่จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญมากที่สุด ตั้งแต่หลังผ่านอายุ 15 ไปจนถึงอายุ 19 ถ้าใครสามารถผ่านตรงนี้มาได้ มันก็จะก้าวข้ามไปเลย เหมือนอย่างที่ สุภโชค สารชาติ, รัตนากร ใหม่คามิ, อานนท์ อมรเลิศศักดิ์ ผ่านช่วงเวลานี้มาได้

ย้อนกลับไปตอน ออมสิน ไทยแลนด์ แชมเปียนส์ คัพ ที่เจอทีมใหญ่อย่าง เชียงรายฯ ทำไมกล้าใช้เด็กอายุ 16 อย่าง กฤษณะ ดาวกระจาย ลงเป็นตัวจริง

ก็อยากให้โอกาส ผมถือว่าการให้โอกาสผู้เล่นเยาวชน เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเราต้องการให้ผู้เล่นเจเนอเรชั่นใหม่ เติบโตขึ้นมาสู่ชุดใหญ่ เราต้องกล้าที่จะให้เขาลงสนามในเกมที่ใหญ่พอเหมือนกัน

เพราะว่าเด็กที่ได้ลงเล่น ถึงมันจะเล่นดีหรือแย่ สิ่งที่เขาจะได้กลับมาคือ “ประสบการณ์”  และกระดูกฟุตบอลที่เพิ่มขึ้น ถ้าเขาผิดพลาด เขาก็จะมุ่งมานะมากกว่าเดิม เพราะว่าด้วยอายุแล้ว เขายังมีโอกาสแก้ตัว และเขาจะไปพยายามแก้จุดบกพร่องของตัวเอง

อีกอย่างมันเป็นการจุดประกายในเด็กๆคนอื่นในอคาเดมีเห็นว่า “ที่นี่ พร้อมให้โอกาสดาวรุ่ง” ถ้าพวกเขามีความตั้งใจ มุ่งมั่นมากพอ โอกาสเปิดกว้างสำหรับเด็กทุกคนเสมอ เพราะบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่ได้เลือก 11 ผู้เล่นตัวจริงจากอายุ แต่เราเลือกด้วยความฟิต และความพร้อมที่จะเล่น

เปิดปรัชญาสร้างเด็กบุรีรัมย์ฯ ฉบับ

หลายคนพูดถึง ศุภณัฏฐ์  เหมือนตา กองหน้าอายุ 15 ปี

รอแค่เวลาเท่านั้นเอง ตอนนี้เขาซ้อมอยู่กับทีมชุดใหญ่ตลอด เราลงทะเบียนไว้ในทีมชุดใหญ่ ตั้งแต่เขาอายุ 15 ปี แค่นี้ก็ชัดเจนแล้ว

เพียงแต่ว่าตอนนี้เราต้องอดทนรอหน่อย เพราะกระดูกน้องยังไม่ปิดเลย พอกระดูกมันยังไม่ปิด เรายังไม่กล้าเอาเขาไป Build-Fitness  (สร้างสมรรถภาพทางร่างกาย) เพราะเราถ้าเอาเขาไป Build-Fitness เด็กมันจะหยุดโต ไม่สูง ฉะนั้นมันจะได้อย่างเสียอย่าง

เราขออดทนอีก 1-2 ปี เมื่อไหร่ที่กระดูก แบงค์ (ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา) ปิด เท่ากับว่า เด็กมันไม่โตแล้ว เราก็เอาเขาไป bulid fitness ความแข็งแกร่ง แรงปะทะ จะมาหมด มันเหมือนกับตอนที่เราสร้างไอ้เช็ค (สุภโชค สารชาติ) นั่นแหละ ผมเชื่อในเรื่องของวิทยาศาสตร์กีฬา และนำมันมาใช้กับทีมตลอด

ในฐานะคนที่คลุกคลีกับการปลุกปั้นนักบอลเยาวชนไทยมาพอสมควร อะไรที่ข้อแตกต่างของไทยกับชาติอื่น เวลาไปแข่งระดับเอเชีย

วินัย (ยิ้ม) และเรื่องความฟิต… พอวินัยคุณไม่ดี สิ่งที่จะมีปัญหาตามมาก็คือ สภาพความฟิตมันไม่ได้ คุณเห็นไหมว่า ทีมชาติไทย U-23 ไปแข่งระดับเอเชียมา ทำไมถึงแพ้เขา เพราะความฟิตเราไม่มีไง วินัยเราก็ไม่ได้

ส่วน เวียดนาม ทำไมเขาเล่นดี และพัฒนาได้ เพราะว่าโครงสร้าง ระบบความคิด เด็กเขามีวินัยสูงมาก แล้วมันมีความฟิต

คุณรู้ไหมว่า เวลาเด็กผมกลับจากเก็บตัวทีมชาติมาสโมสรทีไร ผมต้องจูนความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของเด็ก ให้กลับมาสู่แนวทางของสโมสรทุกครั้ง (เน้นเสียง)

เปิดปรัชญาสร้างเด็กบุรีรัมย์ฯ ฉบับ

ปัญหาคืออะไรครับ

พูดตรงๆนะ นักบอลจากสโมสรต่างๆ เวลาถูกเรียกมาทีมชาติ เหมือนมาฮอลิเดย์ พวกเขาได้รับสิ่งที่ไม่ค่อยดีต่อการเป็นนักฟุตบอลอาชีพติดตัวกลับมา นั้นทำให้รู้สึกไม่อยากปล่อย แต่จะไม่ปล่อยก็ไม่ได้ เพราะมันมีคำว่า “ทีมชาติ”

ต้องแก้ไขอย่างไร

ผมไม่รู้ว่าในจุดตรงนี้ สมาคมฯ จะหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่ถ้าเป็นเด็กของผม ที่เติบโตมากับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อคาเดมี ผมก็มีวิธีการจัดการในแบบของบุรีรัมย์ จะเห็นว่าความฟิต เด็กบุรีรัมย์ฯ ลงไปเล่นแล้วไม่หมด แต่เด็กทีมอื่นพละกำลัง พอลงไปเล่นแล้วหมด

พอไม่มีความฟิต มันสะท้อนอะไร?  กินไม่เป็นเวลา, พักผ่อนไม่เพียงพอหรือเปล่า ทำไมถึงได้เกิดปัญหา เพราะฟุตบอลเวลาเคลือนที่ มันต้องเคลื่อนทั้ง 11 คน ถ้ามีคนหนึ่งไม่เคลื่อนที่ มันจะเกิดช่องให้คู่แข่งเจาะได้สบายๆ

ทราบมาว่า เด็กในอคาเดมีทุกคนต้องผ่านการเป็น เด็กเก็บบอล มาก่อน

คุณอย่าคิดว่าการเป็นเด็กเก็บบอลไม่มีประโยชน์นะ เพราะการลงไปเก็บบอล เด็กๆจะได้เห็นเกมตลอด ได้อยู่ใกล้ชิดสนาม ได้เห็นไอดอลมันเล่น ได้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อนของรุ่นพี่ พวกเขาจะได้เห็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในเกมจริงๆ

พอเด็กๆ ได้อยู่ในบรรยากาศการกดดันของแฟนบอล ทุกอย่างมันจะหล่อหลอมจิตวิญญาณ และจิตใจของเด็ก ให้เกิดความเคยชิน  

อย่างน้อยที่สุด วันหนึ่งหากเขาได้ลงไปเล่นเองในสนาม เจอเสียงเชียร์ก็จะไม่ตื่น เห็นคนมันก็จะไม่กลัวแล้ว ผมถึงบอกว่า ฟุตบอลมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ในการสร้างนักฟุตบอลคนหนึ่งขึ้นมา มันไม่เคยง่ายหรอก

เปิดปรัชญาสร้างเด็กบุรีรัมย์ฯ ฉบับ

เวลาที่เห็นเด็กที่สร้างมา ตั้งแต่แรก จนวันหนึ่งสามารถลงเล่นในเกมระดับสูง อย่าง เอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก ได้นี้ รู้สึกอย่างไร

ดีใจ ภูมิใจ ผมเป็นคนที่ให้กำลังใจเด็กตลอด แล้วก็อดทนพอ ที่ใช้งาน

สมมุติ ถ้าเขาลงไปเล่นแล้วถูกเจาะบ่อยครั้ง  ผมไม่เปลี่ยนออกนะ ผมว่ามีความอดทนมากพอ ที่จะให้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ แล้วผมจะไม่ตำหนิเด็กเลย ให้เขาได้กลับไปคิดเอง ว่าลงเล่นวันนี้ อารมณ์เป็นอย่างไร, ต้องขยับ ต้องเคลื่อนที่อย่างไร

คนเรามันต้องมีครั้งที่ 1 ในชีวิตนะ ผ่านครั้งที่ 1 ไปได้ ความมั่นใจมันก็จะมา พอทีนี้ เด็กคนอื่นในรุ่น เห็นว่า เรากล้าใช้เว้ย มันก็จะมีกำลังใจว่า เฮ้ย ถ้าเพื่อนกูไปได้ กูก็ต้องไปได้… พ่อ (เนวิน) ให้โอกาสมึง สักวันหนึ่ง พ่อก็ต้องให้โอกาสกู  

คุณแทนตัวเองว่า พ่อ กับเด็กๆเยาวชนในทีม

ก็เป็นพ่อลูกกันหมด อ่ะ เด็กทุกคนในอคาเดมี เหมือนลูกผม ผมอยากดูแลและมอบสิ่งที่ดีสุดให้แก่ลูกผม

ผมลงเงินปีละ 30-40 ล้านบาท ในการทำอคาเดมี่ แล้วตัวผม กับคุณต่าย (กรุณา ชิดชอบ) ก็ต้องลงแรงมาดูแล มาเฝ้าเด็กๆ ทุกวัน ดูว่าตั้งแต่ความเป็นอยู่, ไปเรียนหนังสือไหม, กลับมาแคมป์ทำการบ้านหรือเปล่า

มีคนถามอีกว่า ทำไมเด็กในอคาเดมี่ผมต้องเรียนหนังสือ ก็อยากจะบอกว่า คนฉลาดเล่นบอลฉลาด คนโง่เล่นบอลโง่ การศึกษาทำให้เขามีระบบ และโครงสร้างทางความคิดที่ดีกว่าคนไม่ได้เรียน

เราทุ่มเท เราใส่ใจพวกเขา และเลี้ยงดูเหมือนกับลูกของเราจริงๆ ดังนั้นที่นี่ สถานะของผม เหมือนเป็น พ่อ และเด็กๆทุกคนในอคาเดมี ก็คือ ลูก

โฆษณา